ชำมะเลียง


ชื่อวิทยาศาสตร์
Lepisanthes fruticosa (Roxb.) Leenh.

ชื่อสามัญ

ชื่อเรียกอื่น
โคมเรียง (ตราด), พูเวียง (นครราชสีมา), มะเถ้า ผักเต้า (ภาคเหนือ), หวดข้าใหญ่ ภูเวียง (ภาคอีสาน), ชำมะเลียง ชำมะเลียงบ้าน พุมเรียง พุมเรียงสวน (ภาคกลาง)

ชื่อวงศ์
SAPINDACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นชำมะเลียง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 4-7 เมตรและสูงได้ถึง 8 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง ๆ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีขนสีน้ำตาล ชำมะเลียงเป็นพันธุ์ไม้ผลพื้นเมืองที่ขยายพันธุ์ได้ง่าย ทนทานต่อโรคและแมลงได้ดี โดยขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในดินเค็ม มีการแพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ ตามป่าโปร่ง ตามแนวชายป่า หรือริมลำธาร ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,000 เมตร และพบได้มากในแถบพื้นที่ชายทะเล พบได้ในทุกภาคของประเทศ แต่จะพบได้มากในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้
ใบชำมะเลียง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 5-7 คู่ ออกเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของแผ่นใบย่อยเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือสอบเข้า ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-21 เซนติเมตร แผ่นใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร และบริเวณก้านใบจะมีหูใบลักษณะเป็นแผ่นกลม ๆ เด่นชัด
ดอกชำมะเลียง ออกดอกเป็นช่อแบบ Raceme ออกตามกิ่งและลำต้น ช่อดอกห้อยลง ช่อดอกยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร ดอกย่อยของแต่ละช่อจะมีทั้งดอกที่สมบูรณ์เพศและไม่สมบูรณ์เพศ ดอกเป็นสีขาวครีม ดอกเมื่อบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบแยกกัน ที่ฐานจะเรียวเล็ก กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปรีคล้ายกลีบเลี้ยงแต่จะบางกว่าและอยู่สับหว่างกลีบเลี้ยง ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน ติดอยู่ด้านหนึ่งของฐานรองดอกที่นูนขึ้น มีขนาดยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีก้านชูอับเรณูสั้น ๆ ส่วนดอกเพศเมียมีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน มีรังไข่ติดอยู่เหนือฐานรองดอก และมีเกสรเพศผู้ที่ไม่เจริญ 8 ก้านติดอยู่รอบ ๆ รังไข่ รังไข่มี 3 พู 3 ห้อง ในแต่ละห้องจะมีออวุล 1 อัน สำหรับกลีบเลี้ยงดอกนั้นจะเป็นสีม่วง มี 5 กลีบ ลักษณะกลีบเลี้ยงเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม
ผลชำมะเลียง หรือ ลูกชำมะเลียง ผลออกเป็นช่อ ๆ ในหนึ่งช่อจะมีผลเป็นพวง พวงละประมาณ 20-30 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม รูปไข่ หรือรูปไข่ถึงรูปรีป้อม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลสดเป็นสีเขียวอมม่วงแดง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ เนื้อผลฉ่ำน้ำ มีรสหวาน ใช้รับประทาน ภายในผลมีประมาณ 1-2 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ปนขอบขนาน ผิวเรียบเป็นสีดำ มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม และผลจะแก่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

การกระจายพันธุ์
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงอินโดนีเซีย ประเทศไทยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ตามแนวชายป่าหรือริมลำธาร ที่ระดับ ความสูงถึง 1,000 เมตร การขนายพันธ์โดยการ ปักชำ และ เพาะเมล็ด

สรรพคุณ
1.รากมีรสเบื่อจืดและขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ไข้ ใช้กินแก้ไข้เหนือ ไข้กาฬ ไข้พิษ ไข้สันนิบาต ไข้สั่น ไข้กำเดา (ราก)
2.แก้เลือดกำเดาไหล (ราก)
3.ช่วยแก้อาการร้อนใน (ราก)
4.ช่วยแก้อาการกระสับกระส่าย แก้ระส่ำระสาย (ราก)
5.ช่วยทำให้ระบบทางเดินอาหารเป็นปกติ (ราก)
6.ช่วยแก้อาการท้องผูก แก้ไม่ผูกไม่ถ่าย (ราก)
7.ผลสุกหรือผลแก่ช่วยแก้ท้องเสีย คนโบราณจะใช้ผลแก่สีดำที่มีรสฝาดหวานให้เด็กรับประทานเป็นยาแก้โรคท้องเสีย (ผล)

ช่วงเวลาการออกดอก
มิถุนายน-ธันวาคม

วิธีใช้
ผลชำมะเลียง
แก่ มีรสฝาดหวาน คนโบราณให้เด็กดินแก้โรคท้องเสีย
ราก แก้ร้อนใน แก้ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต และเลือดกำเดาไหล
ใบอ่อน ใช้ประกอบการทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ลวกจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงเลียง น้ำชำมะเลียง
ส่วนผสม
ชำมะเลียงสุกงอม 1 ถ้วย
น้ำต้มสุก 1 1/2 ถ้วย
น้ำเชื่อม (1:1) 1/3 ถ้วย
เกลือ 1 ช้อนชา
วิธีทำ
1. เลือกผลชำมะเลียงผลโตๆ และสุกงอม ล้างให้สะอาด ใส่ลงในภาชนะ
2. เติมน้ำต้มสุกเล็กน้อย ยีให้เมล็ดหลุดจากเนื้อ เติมน้ำที่เหลือ
3. กรองเอาเมล็ดและเปลือกออก เติมน้ำเชื่อม และเกลือลงไป
4. ชิมรสตามใจชอบ จะได้น้ำชำมะเลียงสีม่วง

ข้อควรระวัง
ผลสุกมีรสหวานฝาด ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ แต่ก่อนจะรับประทานผลควรนำมาคลึงเบา ๆ ให้ทั่วผล จะช่วยลดรสฝาดลงได้บ้างและข้อมูลจากวิกิพีเดียไทยระบุไว้ว่า ผลถ้ารับประทานมากเกินไปจะทำให้ท้องผูกได้

แหล่งอ้างอิง
https://medthai.com/ชำมะเลียง/
https://www.teaoilcenter.org/ชำมะเลียง/
http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/
ornament/luna_nut.html

โซน
สวนสมุนไพร  

Close gallery